ม.รังสิต ทุ่มงบ 3,000 ล้าน สร้างอาคารเรียนใหม่ทันสมัยและครบวงจร เพื่อพัฒนาศักยภาพสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ”
“เมื่อการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ถึงเวลาเราก็ควรเปลี่ยน” เชื่อว่าหลายคนคงคิดเช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่ง มหาวิทยาลัยรังสิตเคยประสบกับความเสียหายจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย เมื่อปลายปี 2554 เหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน อาคาร เครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้หยุดก้าวเดิน
เหมือนตายแล้วได้เกิดใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของหัวเรือใหญ่อย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้แก้ไขและก้าวข้ามวิกฤตนั้นไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า โดยปรับปรุงซ่อมแซมอาคารและสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมและกลับคืนสู่สภาวะปกติ โดยประกาศแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ปี 2555-2558 เดินหน้าสร้าง 6 อาคารใหม่ ทันสมัย ครบวงจร ภายใต้งบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท “คุณภาพ คุณภาพ คุณภาพ” ศักยภาพของสถาบันการศึกษา
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลังจากวิกฤตผ่านพ้น ได้วางแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ปี 2555-2558 ในการพัฒนาเชิงคุณภาพและความพร้อมด้านกายภาพของมหาวิทยาลัยรังสิตในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยมุ่งสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่มีความพร้อมทุกด้าน เป็นขุมพลังแห่งปัญญาที่แท้จริง ซึ่งเราเห็นสิ่งที่ชาติต้องการ สิ่งที่จะสามารถสร้างให้สังคมเข้มแข็ง และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป โดยมหาวิทยาลัยได้วางแผนสร้างอาคารต่างๆ ให้มีความทันสมัย ครบวงจร และสอดคล้องกับการเรียนการสอน ได้แก่ 1) อาคาร Student Center 2) อาคารนันทนาการ 3) อาคารรังสิตประยูรศักดิ์ 2 4) อาคารศาลากวนอิม Guan Yin Sala (Chinese-Thai Institute) และ 5) อาคารศาลาดนตรี (Music Sala)
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการสำนักงานอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลังจากเริ่มดำเนินโครงการสร้างอาคารและปรับภูมิทัศน์ใหม่ ปัจจุบันได้มีการดำเนินงานไปแล้วในหลายส่วน รวมทั้งในส่วนของการปรับปรุงซ่อมแซมเพิ่มเติมในส่วนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมด้วย ซึ่งการก่อสร้างในบางจุดจำเป็นต้องมีการรื้อถอนก่อน ที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปส่วนหนึ่งคือการปรับภูมิทัศน์สวนด้านหน้ามหาวิทยาลัย โดยให้เป็นบริเวณที่บุคลากรและนักศึกษาสามารถทำกิจกรรมหรือพักผ่อนได้ ส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่คือ อาคาร Student Center และบริเวณมณฑปพระศรี ซึ่งตรงนี้ต้องมีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเก่าทิ้งก่อนคือ โรงอาหารกลาง และซุ้มดอกเห็ด และอีกส่วนคือ บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยคือ อาคารศาลาดนตรี อาคารศาลากวนอิม และรวมไปถึงอาคารรังสิตประยูรศักดิ์ 2 ด้วย ซึ่งในการดำเนินงานทางมหาวิทยาลัยพยายามจะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้
ก้าวสู่การเป็น มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ
นายเอกพจน์ วงศ์สวัสดิ์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ดูแลโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ กล่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารต่างๆ ว่า ขณะนี้การดำเนินงานก่อสร้างของแต่ละอาคารมีความคืบหน้าและเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้ ทั้งอาคาร Student Center อาคารนันทนาการ อาคารรังสิตประยูรศักดิ์ 2 อาคารศาลาดนตรี อาคารศาลากวนอิม โดยในเบื้องต้นอาคารนันทนาการ มีกำหนดส่งงานให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2557 ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทันงานพิธีประสาทปริญญาที่จะจัดขึ้นในปี 2558 รวมทั้งอาคารรังสิตประยูรศักดิ์ 2 รวมถึงอาคารศาลาดนตรี อาคารสถาบันจีน-ไทย ด้วย เพื่อเป็นการเตรียมเฉลิมฉลองในงานครบรอบ 30 ปี มหาวิทยาลัยรังสิตในปี 2558
นอกจากนี้ ท่านอธิการบดีมีดำริเพิ่มเติมในการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารใหม่อีก 2 อาคาร คือ อาคารวิทยาลัยนวัตกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ตั้งอยู่อาคาร 5 เพื่อรองรับนักศึกษาในหลักสูตรใหม่ที่เปิดขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนอีกอาคารคือ อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคาร Digital Multimedia Complex (อยู่ในระหว่างการออกแบบ)
สำหรับรายละเอียดของอาคารต่างๆ ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วมี ดังนี้
1) อาคาร Student Center โดยแบ่งเป็น ส่วนที่ 1 โรงอาหารใหม่ และ Community Mall ส่วนที่ 2 จะเป็น International Forum สถานที่สำหรับจัดสัมมนา ประชุมต่างๆ ส่วนที่ 3 เป็นสถานที่ในการเรียนการสอนของวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ ห้องปฏิบัติการ ครัวสาธิต ห้องจำลองเครื่องบินของหลักสูตรธุรกิจการบิน และใช้เป็นอาคารเรียนรวม ส่วนที่ 4 ชั้นล่างยกสูงสำหรับใช้เป็นที่จอดรถ
2) อาคารนันทนาการ ใช้สำหรับประกอบกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เช่น งานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ พิธีประสาทปริญญา โดยภายในสามารถจุคนได้ถึง 5,000 คน
3) อาคารรังสิตประยูรศักดิ์ 2 เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเพื่อสร้างความโดดเด่นทางด้านการแพทย์ ของมหาวิทยาลัย สู่ความเป็นเลิศ สำหรับเป็นที่ตั้งของคณะทัศนมาตรศาสตร์ สำนักงานสวัสดิการสุขภาพ RSU Health Care และห้องปฏิบัติการคณะทันตแพทยศาสตร์
4) อาคารศาลากวนอิม เป็นที่ตั้งของสถาบันจีน-ไทย แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งทำหน้าที่สร้างผลงานวิจัยด้านต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ เทคโนโลยี และศิลปวัฒนธรรม ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างจีนและไทย
5) อาคารศาลาดนตรี ประกอบด้วย อาคารเรียนปฏิบัติการดนตรีที่ทันสมัย สำหรับการพัฒนานักศึกษาวิทยาลัยดนตรี รวมทั้งส่วนของคอนเสิร์ตฮอลล์และโรงละครที่สามารถจุคนได้ถึง 1,100 ที่นั่ง และมีระบบเวทีที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย” ผอ.สำนักงานบริหารโครงการก่อสร้างฯ กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยรังสิต ยังคงเดินหน้าเพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม รวมทั้งพัฒนาสถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้เป็น มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่การศึกษาคือนวัตกรรม และทำให้บัณฑิตสามารถก้าวสู่หลักชัยในสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต