วันที่ 26 มีนาคมที่จะถึงนี้ ทางรัฐบาลจะนำเอาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาประกาศใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่เป็นข้อกำหนด 6 ข้อที่ประชาชนควรรู้เอาไว้ หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามกฎหมาย
“สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบ หรือ อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ อาจทำให้ประเทศ หรือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือ การสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้นครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือ การป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง
ตามพระราชกำหนด ระบุถึงข้อห้ามในมาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังนี้
(1) ห้ามออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาต
(2) ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
ส่วนมาตรการลงโทษ ตามมาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนดประกาศ หรือคําสั่งที่ออกตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
โดยรัฐบาลจะนำรายละเอียดต่างๆ ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนำมาปรับใช้และพิจารณาตามความเหมาะสม นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งเราต้องติดตามกันให้ดี