ผ่านมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว สำหรับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่กับเหตุการณ์เสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รัชกาลที่ ๙ ของประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ความเศร้าโศกยังไม่จาง หมอกและควันบางๆ ยังคงอยู่ แต่ทุกชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป แม้วันนี้ “พ่อหลวง” รัชกาลที่ ๙ จะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แต่ทุก “คำสอนของพ่อ” ยังคงอยู่กับเราตลอดเวลา ซึ่งทุกคำสอนของพ่อนั้นเป็นดั่งของขวัญล้ำค่า เป็นแสงสว่างที่คอยนำทาง และสาดส่องให้เราก้าวไปข้างหน้าในเส้นทางที่ถูกที่ควร และยังสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับเราได้ดี
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ วันนี้ Jeab.com จึงขออนุญาตหยิบยก “๙ คำสอนของพ่อ” จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ในด้านต่างๆ อาทิ ในด้านการศึกษา, ความพอเพียง, รู้รักสามัคคี, ความรับผิดชอบ เป็นต้น มาฝากให้ทุกคนได้ใช้เป็นหลักแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป ให้ชีวิตของเราดียิ่งขึ้นกันค่ะ
1. หนังสือเป็นธนาคารของความรู้
“…หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมาแต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้ และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้…”
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๔
2. ไม่โลภมาก ก็อยู่เป็นสุข
“…คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียน คนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียงหมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันศุกร์ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
3. ใช้จ่ายอย่างประหยัด อนาคตไม่ขาดแคลน
“…การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัด ดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๐๓ วันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
4. รู้รักสามัคคีและพร้อมเพรียง นำมาซึ่งความสุข
“…ความสามัคคีนั้นเป็นการที่ทุกคนเห็นใจกัน ซึ่งกันและกันและพร้อมเพรียง ก็หมายความว่าไม่ได้ทำคนละทีสองที แต่ทำพร้อมกัน ความสามัคคีและความพร้อมเพรียงนี้ มีผลต่อเนื่องอีกอย่างหนึ่งอีกต่อไปว่า ทำให้ทุกคนมีความเข้มแข็งแข็งแรง ซึ่งจะนำมาสู่ความสุขของแต่ละคน เพราะว่าคนเรามีทั้งสุขทั้งทุกข์ เมื่อมีความสุขก็อยากให้คนอื่นมีความสุขด้วย ทำให้ความสุขของตัวใหญ่หลวงขึ้น เมื่อมีความทุกข์มีคนอื่นมาช่วยก็ทำให้ความทุกข์น้อยลง ฉะนั้นความสามัคคีและความพร้อมเพรียงนั้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ…”
พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดนครศรีธรรมราช วันอังคาร ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๑
5. ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง
“…ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็ก ๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง…”
พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธ ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐
6. พิจารณาการกระทำของตนเองให้รอบคอบอยู่เสมอ
“…ทุกคนจำเป็นต้องหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาการกระทำของตนให้รอบคอบอยู่เสมอระมัดระวังทำการทุกอย่างด้วยเหตุผล ด้วยความมีสติ และด้วยความรู้ตัว เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายทั้งมวลให้ได้โดยตลอด และสามารถก้าวไปถึงความสำเร็จที่แท้จริง ทั้งในการงานและการครองชีวิต…”
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำการศึกษา ๒๕๑๕ วันศุกร์ ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๑๖
7. สำนึกในความรับผิดชอบ ตั้งมั่นอยู่ในระเบียบวินัยและศีลธรรมอันดี
“…ขอทุกคนจงตั้งใจทำหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและบริสุทธิ์ใจ จงเป็นผู้มีความสำนึกในความรับผิดชอบ มั่นอยู่ในระเบียบวินัยและศีลธรรมอันดี รวมความว่าขอทุกคนจงบำเพ็ญตนเพื่อเป็นนายทหารที่ดีของชาติ ถ้าท่านพยายามใช้ความรู้ที่ได้รับมาแล้ว และที่จะขวนขวายให้ได้อีกในโอกาสต่อไปด้วยความตั้งใจดีและบริสุทธิ์ใจดั่งว่านี้ ก็จะเป็นผลดีแก่หน้าที่การงาน เป็นทางนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติ และเกียรติคุณมาสู่ตนเองและสกุลวงศ์…”
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่นักเรียนนายร้อยนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายเรืออากาศ ซึ่งสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุด วันอังคาร ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑
8. จงหนักแน่นในสัจจะ พูดจริงทำจริง
“…ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำคือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม…”
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐
9. “พอเพียง” อย่างพอประมาณและความมีเหตุผล
“…ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันศุกร์ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
จะเห็นได้ว่าทุกคำสอนของพ่อนั้น เราสามารถตามรอยพระบาทและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ทุกๆ เรื่อง พ่อสอนเราให้ได้เรียนรู้ และ ใช้ชีวิตที่ถูกที่ควร ซึ่งนอกจาก “๙ คำสอนของพ่อ” ที่วันนี้เราหยิบยกมาฝากเพื่อนๆ กันแล้ว สิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องพึงมีอยู่ตลอดเวลานั้นคือ “สติ” เพราะ “สติ” จะคอยประคับประคองและผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ผิดชอบชั่วดี ซึ่งพ่อหลวงของเราเองก็เคยได้ให้พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการใช้ “สติ” เอาไว้เช่นเดียวกัน ทุกคนสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ พระบรมราโชวาทของพ่อหลวงกับการใช้ “สติ” กันค่ะ
“…ท่านทรงเหนื่อยทรงทำเพื่อเราเรื่อยมา
ถึงเวลาทำให้ท่านสุขใจ
ร่วมกันสร้างความดีด้วยใจและกาย
ก้าวตามรอยบาทองค์พระราชา…”– เนื้อเพลงส่วนหนึ่งของ “เพลง ตามรอยพระราชา” ที่ขับร้องโดยศิลปิน เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์