การรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริม เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปสำหรับใครที่ต้องการบำรุงร่างกายเพิ่มเติม แน่นอนว่าสรรพคุณของวิตามินและอาหารเสริมแต่ละชนิดนั้นก็จะแตกต่างกันไป เช่น วิตามินบี ช่วยให้กระฉับกระเฉง บำรุงระบบประสาท ในขณะที่วิตามินซี ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้ผิว ทำให้ผิวสุขภาพดี ฯลฯ ซึ่งบางคนอาจรับประทานวิตามินชนิดเดียว ในขณะที่บางคนเลือกรับประทานวิตามินหลายชนิด เพราะคิดว่าจะบำรุงหลายๆ ด้านไปเลยพร้อมกัน แต่รู้มั้ยคะว่าการรับประทานวิตามินและอาหารเสริม ก็เหมือน “เหรียญมี 2 ด้าน” เพราะวิตามินและอาหารเสริมเอง ก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี ช่วยบำรุงร่างกาย แต่ขณะเดียวกันรับประทานติดต่อกันมากๆ หรือรับประทานพร้อมกันผิดคู่ก็อันตรายเช่นกัน
ดังนั้นเพื่อนๆ ที่รับประทานวิตามินและอาหารเสริมหลายๆ ชนิดพร้อมกัน จึงต้องดูกันด้วยนะว่าสิ่งที่เรารับประทานไปนั้น มันเป็นคู่แฝดดี ช่วยเสริมประโยชน์ซึ่งกันและกัน หรือ แฝดร้าย ที่รับประทานคู่กับอะไรแล้วอาจอันตรายถึงชีวิตได้ ว่าแล้ววันนี้เลยขอนำเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการรับประทานวิตามินและอาหารเสริมจาก นพ.กฤษดา ศิรามพุช มาฝากให้เพื่อนๆ ได้ทราบและรู้เท่าทันก่อนรับประทานวิตามินและอาหารเสริมกันค่ะ
#วิตามินและอาหารเสริมที่เป็น “คู่แฝดดี”
จำไว้ว่ายิ่งรับประทาน ยิ่งช่วยเสริม!
วิตามินและอาหารเสริมที่เป็นคู่แฝดดี ยิ่งรับประทานคู่กัน ยิ่งส่งเสริมสุขภาพและทำให้การรักษาโรคนั้นเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น
แฝดดีคู่ที่ 1 วิตามินซีกับคอลลาเจน : รับประทานคู่กันจะช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้ใส่ปิ๊ง และ ทำให้ผิวพรรณไม่เหี่ยวย่น
แฝดดีคู่ที่ 2 ธาตุเหล็กกับวิตามินซี : การรับประทานธาตุเหล็กให้ดี เพื่อให้ดูดซึมไปใช้ได้ ต้องรับประทานคู่กับวิตามินซีด้วย เช่น ถ้ากินต้มเลือดหมู ก็ควรรับประทานผักตำลึงที่มีวิตามินซีด้วยนั่นเอง
แฝดดีคู่ที่ 3 แคลเซียมกับแมกนีเซียม : การรับประทานแคลเซียมให้ดูดซึมได้ดี ต้องมี “ตัวช่วย” โดยตัวช่วยในการดูดซึมที่ควรรับประทานคู่กับแคลเซียมก็คือ แมกนีเซียม, วิตามินเค และ วิตามินดีนั่นเอง ซึ่งมีอยู่ในผักเขียวและแสงแดดนั่นเอง
แฝดดีคู่ที่ 4 วิตามินซีกับวิตามินเอและวิตามินอี : 3 วิตามินนี้รับประทานด้วยกันจะให้ผลดี หรือถ้าให้ดีที่สุด ควรเลือกสูตรการรับประทานแบบนี้ คือรับประทานเฉพาะวิตามินซี ในส่วนของวิตามินเอและวิตามินอีนั้น สามารถรับประทานจากผักคะน้าและถั่วลิสงวันละกำมือแทนได้
แฝดดีคู่ที่ 5 น้ำมันปลาที่มีดีเอชเอกับอีพีเอ : น้ำมันปลาในที่นี้ เป็นคนละตัวกับน้ำมันตับปลานะจ๊ะ อย่าเข้าใจผิด ซึ่งวิธีการรับประทานน้ำมันปลาให้ดี ควรเลือกชนิดที่มีดีเอชเอคู่กับกับอีพีเอ ควรมีดีเอชเอ+อีพีเอ = 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมีเคล็ดลับในการรับประทานดังนี้ หากใครอยากรับประทานเพื่อบำรุงสมอง ก็ให้เลือกน้ำมันปลาที่มีดีเอชเอมากน้อย หรือ หากใครอยากรับประทานเพื่อบำรุงส่วนอื่น พวกข้ออักเสบ ก็เลือกน้ำมันปลาที่มีอีพีเอมากกว่านั่นเอง
#วิตามินและอาหารเสริมที่เป็น “คู่แฝดร้าย”
จำไว้ว่าอย่ารับประทานคู่กัน อันตราย!
คู่แฝดร้ายนี้ ห้ามรับประทานคู่กัน อย่าเผลอเข้าใจผิดว่ารับประทานคู่กันแล้วจะดีเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำร้ายเรามากกว่าเดิม เผลอๆ อาจทำให้สมองเป็นอัมพาตหรือช็อก หัวใจวายได้เช่นกัน ดังนั้นมาดูกันค่ะว่า วิตามินและอาหารเสริมรับประทานคู่กับอะไรแล้วอันตราย
แฝดร้ายคู่ที่ 1 น้ำมันปลากับแอสไพริน : ใครที่รับประทานอาหารเสริมเป็นน้ำมันปลา อย่าเผลอรับประทานยาแอสไพรินไปด้วยกันเด็ดขาด เพราะน้ำมันปลา มีสรรพคุณทำให้เลือดใส ไม่หนืดไม่เหนียว ซึ่งแอสไพรินก็มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน คือ ช่วยทำให้เลือดไม่เป็นก้อน เมื่อนำมารับประทานคู่กันเลยจะยิ่งทำให้เลือดไหลไม่หยุด ไหลพรากราวกับถูกผ่าตัดใหญ่เลยล่ะ อันตรายสุดๆ
แฝดร้ายคู่ที่ 2 วิตามินอีกับน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส : วิตามินอีช่วยบำรุงผิวพรรณ ในขณะที่น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสเองก็มีวิตามินอีซึ่งบำรุงผิวพรรณเช่นกัน ดังนั้นควรเลือกรับประทานเพียงแค่ตัวใดตัวหนึ่ง อย่ารับประทานคู่กัน เพราะหากได้รับวิตามินอีในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้หัวใจทำงานหนักและเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
แฝดร้ายคู่ที่ 3 แคลเซียมเสริมกับแคลเซียมสด : หากใครที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาแคลเซียมเสริมมารับประทานเพิ่ม เช่น ถ้าใครที่รับประทานเต้าหู้ขาวแข็งวันละ 3 ขีด หรือ งาดำวันละ 4 ช้อนโต๊ะเป็นประจำวันจะได้แคลเซียมราวๆ 1,000 มิลลิกรัมอยู่แล้ว หากไปรับประทานแคลเซียมเสริมเพิ่มเติม ก็จะทำให้ได้รับแคลเซียมมากเกินไปและอาจทำให้หลอดเลือดตีบแข็งได้ ดังนั้นก่อนรับประทานแคลเซียม ลองสังเกตอาหารที่ตนเองรับประทานก่อนว่าได้รับแคลเซียมเพียงพอแล้วหรือยัง
แฝดร้ายคู่ที่ 4 แคลเซียมเสริมกับกาแฟ : ไม่ควรรับประทานแคลเซียมเสริมคู่กับกาแฟ เพราะกาแฟจะไปยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม นอกจากนี้ยังดึงแคลเซียมออกจากกระดูกด้วยค่ะ ดังนั้นเลี่ยงได้เลี่ยงนะคะ
แฝดร้ายคู่ที่ 5 ธาตุเหล็กกับเลือดจางธาลัสซิเมีย : หลายคนเข้าใจว่าเป็นเลือดจางต้องบำรุงด้วยธาตุเหล็ก แต่ไม่เสมอไปนะคะ โดยเฉพาะใครทีเป็นโรคเลือดจางธาลัสซิเมีย ถ้าใครไปกินธาตุเหล็กเสริม จะยิ่งไปเติมความเป็นพิษให้กับตับและหัวใจของตนเอง อันตรายกว่าเก่า ดังนั้นห้ามรับประทานเด็ดขาด
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิตามินและอาหารเสริมที่สามารถรับประทานคู่กันและไม่สามารถรับประทานคู่กันได้ ซึ่ง นพ.กฤษดา ศิรามพุช ได้ให้ความรู้เอาไว้ อย่างไรก็ตามเพื่อนๆ ที่จะรับประทานวิตามินและอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย ก็อย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้กันไป สอบถามเภสัชกรเวลาที่ไปซื้อวิตามินและอาหารเสิรมกันหน่อยนะคะว่าสรรพคุณของแต่ละชนิด สามารถรับประทานคู่กันได้หรือไม่ อันตรายหรือเปล่า เพื่อสุขภาพร่างกายของเราเอง